หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

การแปลงหลักสูตรสู่การสอน

หัวข้อนี้ เป็นหัวข้อที่เน้นย้ำให้ครูเห็นถึงความสัมพันธ์ของหลักสูตร กับ การจัดการเรียนการสอน
จึงขอให้นักศึกษาอ่านเรื่อง " ผู้เรียนได้อะไรจากหลักสูตรสู่การเรียนการสอนเชิงบูรณาการ"


จาก เว็บ http://library.uru.ac.th/article/htmlfile/riu04_05.pdf

แล้ว
- สรุปความรู้ที่เรียนมาเป็น concept map
- ในฐานะที่นักศึกษาจะจบเป็นครู บทความนี้ชี้ให้เห็นบทบาทของครูที่ควรปฏิบัติอย่างไรบ้าง
อธิบายพอเข้าใจ


หวังว่า การศึกษาคือการแสวงหาความรู้ที่เกิดจากโครงสร้างทางปัญญาควบคู่กับความรับผิดชอบจะเกิดกับทุกคน

หนุงหนิง

วันอาทิตย์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2552

กิจกรรมที่ 2

หน่วยที่ 2 เรื่อง
การออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้


วัตถุประสงค์
- วิเคราะห์จุดประสงค์ เนื้อหา กิจกรรมการเรียนรู้ สื่อการเรียนรู้ และการประเมินผลที่เหมาะสมได้
- ออกแบบการจัดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ได้

เนื้อหา
การออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ ประกอบด้วย
1. กำหนดวัตถุประสงค์(Objective) รายวิชา
2. การเลือกและจัดลำดับเนื้อหา (Content of Curriculum) ที่ต้องการ
3. การเลือกและจัดลำดับกิจกรรมการเรียนรู้ (Learning Experience / Opportunities)
4. กำหนดสื่อการเรียนรู้ (Supporting Material)
5. การประเมินผล (Evaluation)

กิจกรรม :รูปแบบการเรียนการสอนแบบไม่ประสานเวลา

1. นักศึกษาทำแบบทดสอบก่อนเรียน
2. นักศึกษาศึกษาประเด็นการออกแบบการสอนโดยใช้สื่อ Multi Media บนคลังความรู้ที่ผู้สอนเตรียมไว้ให้
3. ศึกษาตัวอย่างการออกแบบการเรียนการสอน ที่เป็นแผนการจัดการสอนของนักศึกษาที่ครูเตรียมไว้ให้
4. นักศึกษาเลือกประเด็นที่นักศึกษาสนใจ
5. ทำการวิเคราะห์เนื้อหา และวัตถุประสงค์
6. ดำเนินการออกแบบกิจกรรมการเรียนการสอนผ่านสื่ออิเลคทรอนิกส์
7. นำเสนอผลงานที่ได้ออกแบบโดยตั้งชื่อว่า ชิ้นงานที่ 2 และส่งเข้า E-mail ผู้สอนภายใน 25 สิงหาคม 2552
8. นักศึกษาสรุปประเด็นสาระสำคัญที่ได้เรียนรู้และแนวทางการนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ ส่งเข้า e-mail ตั้งชื่อ สรุปสาระสำคัญที่ 2
9. นักศึกษาทำแบบทดสอบหลังเรียน

การประเมินผล
1. การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นบนบอร์ด
2. ผลงานชิ้นงานที่ 2
3. สรุปสาระสำคัญที่ 2
4. แบบทดสอบก่อน – หลัง เรียน

กิจกรรมที่ 1

รู้จักเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้

วัตถุประสงค์
- มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้
- อธิบายถึงความสำคัญการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
- เลือกใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้อย่างเหมาะสม

เนื้อหา
ในหน่วยการเรียนรู้เรื่อง รู้จักเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้ ประกอบด้วย
1.ทำไม? ต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
2.ความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อการเรียนรู้
3.ประเภทของเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้
4.หลักการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้

กิจกรรม
1. นักศึกษาทำแบบทดสอบก่อนเรียน
2. นักศึกษาดูคลิปการสอนของนักศึกษาคนหนึ่ง เรื่อง การสอนของฉัน
3. นักศึกษาศึกษาเนื้อหาในส่วนต่างๆ และบันทึกสรุปสาระสำคัญด้วยตนเอง เกี่ยวกับเทคนิคการสอนและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้
4. นักศึกษาเข้าไปสืบค้นคลังความรู้ต่อไปนี้
•ทำไม? ต้องใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ
•ความสำคัญของเทคโนโลยีสารสนเทศต่อการเรียนรู้
•ประเภทของเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้
•หลักการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้
โดยแต่ละประเด็นนักศึกษาควรใช้เวลาในการศึกษาประมาณ 10 -15 นาที
5.นักศึกษาตั้งกระทู้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ที่ได้ศึกษา
6.นักศึกษาทุกคนร่วมแสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนในประเด็นที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับเพื่อนนักศึกษาที่นำเสนอ เพื่อระดมสมองในการทำความเข้าใจประเด็นที่ศึกษา
7.นักศึกษาจัดทำ power point นำเสนอ ตั้งชื่อว่า ชิ้นงานที่ 1 และส่งเข้า E-mail ผู้สอนภายใน 20 สิงหาคม 2552
8.นักศึกษาสรุปสาระสำคัญที่ได้จากการเรียนรู้ครั้งนี้ ส่งเข้า e-mail ตั้งชื่อ สรุปสาระสำคัญที่ 1
9.นักศึกษาสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับการออกแบบการเรียนการสอนโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนรู้มาล่วงหน้าก่อนศึกษากิจกรรมถัดไป
10.นักศึกษาทำแบบทดสอบหลังเรียน

การประเมินผล
1.การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นบนบอร์ด
2.ผลงานชิ้นงานที่ 1
3.สรุปสาระสำคัญที่ 1
4.แบบทดสอบก่อน – หลัง เรียน

วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2552

ICT : ตัวช่วยการเรียนรู้ไร้พรมแดน



“วันนี้ได้เข้าเรียนที่ห้อง ICT ก็ดีครับ ได้เปลี่ยนบรรยากาศการเรียนการสอน ครูให้ลองค้นคว้าหาข้อมูลจาก Web Site ที่เกี่ยวกับเรื่องที่เรียน โดยคีย์คำที่ต้องการค้น โห ผมค้นเจอข้อมูลทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่เพื่อนบางคนค้นได้นิดเดียว บางคนค้นได้มากมาย แต่ก็ยังมีเพื่อนบางคนที่ไม่รู้จักว่าเริ่มต้นค้น ได้ยังไง จะเริ่มต้นจากตรงไหน แต่ข้อมูลที่ค้นพบทั้งหมดก็ไม่ได้ตรงกับที่ผมต้องการเสมอไป ผมใช้เวลานานเหมือนกันกว่าจะตัดสินใจได้ว่าจะเลือกข้อมูลไหนมาทำงานส่งครู ผมว่าทุกวันนี้ ICT มีอิทธิพลเป็นอย่างมากในการเรียนการสอน ทำให้เราเข้าถึงมีความรู้ต่างๆได้อย่างมากมาย ครับ”
บทสัมภาษณ์: นักเรียช่วงชั้นที่ ๒ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น(ศึกษาศาสตร์). 3 กันยายน ๒๕๕๑
จากบทสัมภาษณ์ข้างต้น ทำให้ผู้เขียนตระหนักถึงอะไรบ้างอย่างที่ก้าวเข้ามาสู่ประตูการศึกษาในปัจจุบัน เมื่อผู้เขียนด้ลองมองย้อนไปในอดีตการเรียนการสอนที่ต้องนั่งเรียนในชั้น จากนั้น ครูเข้ามา แล้วเริ่มบอกให้ผู้เรียนท่องบทเรียนที่สอน แถมยังกำชับให้จำให้ได้ หรือ ไม่ก็ให้อ่านตัวหนังสือที่ครูบรรจง จดบนกระดานดำ และเมื่อถึงเวลาท้ายชั่วโมงครูก็สอบ ผู้เรียนยังทำหน้า ไม่เข้าใจกับสิ่งที่ครูทำ ยังไม่ได้รับรู้ด้วยซ้ำว่า เรียนแบบนี้ไปทำไม? เมื่อเรียนไปแล้วจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร? การสอบบางครั้งผ่าน บางครั้งไม่ผ่าน ครูวัดจากตรงไหน ? ครูรู้ได้อย่างไรว่าผู้เรียนมีความเข้าใจในเนื้อหากระบวนการมากน้อยเพียงใด? แต่วิธีการสอนเช่นนี้ สามารถพบเห็นได้ในหลายโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันเองก็ยังพบเห็นอยู่เช่นเดิม เนื่องจากเป็นวิธีการสอนที่ใช้กันมานาน

แต่เมื่อกระแสโลกกาภิวัฒน์ก้าวเข้ามา พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง กรอบความคิด แนวคิดเริ่มใหม่ๆ เข้ามา การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology: ICT) เข้ามาใช้ในการเรียนการสอน เปิดให้ผู้เรียนและผู้สอนสามารถติดต่อและให้คำปรึกษา ตลอดจนการศึกษาและเรียนรู้ด้วยตัวเองที่สามารถเรียกข้อมูลมาใช้ได้จากทุกที่ ที่มีการเชื่อมต่อเครือข่าย ผู้เรียนได้รับความรู้ที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นตัวกลางถือได้ว่าเป็นแรงสำคัญในการเชื่อมโยงแหล่งความรู้ ข้อมูลเนื้อหา ชุดวิชาในการสอนเข้าด้วยกันโดยไม่มีพรมแดนกั้น การเรียนน่าตื่นเต้นและน่าติดตาม อยากศึกษาอยากเรียนรู้วิชาไหนก็ทำได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว โดยมีผู้สอนเป็นผู้ชี้นำและให้คำปรึกษา ทำให้ Ideal Education เปลี่ยนแปลงไปสู่ Formal Education และนำไปสู่ Experience Education มากขึ้น

ปัญหาที่ตามมาคือ การก้าวตามกระแสที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนี้ ครูต้องรับบทบาทในการนำกระแสไม่ใช่ผู้ตามกระแส แต่หากเอาเข้าจริง ครูไม่สามารถที่จะทำอย่างนั้นได้ การเตรียมความพร้อมเพื่อเรียนรู้ให้ทันจึงเป็นทางออกแรกในการพัฒนาตนให้ทันการเปลี่ยนแปลง การปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางสามารถออกแบบแผนการเรียนการสอนในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) ระบบการเรียนทางไกล (Distance Learning) และการเรียนแบบออนไลน์ (E-learning) เหล่านี้ น่าจะช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนรู้ได้มากขึ้น ได้แสวงหาความรู้ตามหลักสูตร ด้วยการวางแผนกำหนดข้อมูลหรือสาระที่ต้องการ โดยผู้สอนแสดงแหล่งข้อมูล ทั้งจากเอกสารสิ่งพิมพ์และจาก Electronic Sources เช่น ชื่อของ Web ต่าง ๆ ให้ผู้เรียนแสวงหาข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์ เป็นคำตอบ สร้างเป็นองค์ความรู้ต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยี โดยมีความคาดหวังว่า เมื่อมีผู้เรียนเข้าสู่กระแสเทคโนโลยีนี้ ก็น่าจะใช้ประโยชน์และโอกาสจากความหลากหลายของข้อมูลในโลก ICT ได้อย่างดี และเกิดประโยชน์สูงสุดในการเรียนการสอน ซึ่งสิ่งที่ครูจะทำได้ คือ การเรียนรู้ ทำความเข้าใจในเทคโนโลยี และเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ให้เข้ากับเทคโนโลยีสารสนเทศที่ไร้ขอบเขต ให้เกิดประโยชน์ในการศึกษาให้มากที่สุด

การคิดและการสอนเพื่อพัฒนาการคิด

การคิดและการสอนเพื่อพัฒนาการคิด

การคิด หมายถึง พฤติกรรมภายในที่เกิดจากกระบวนการทำงานของสมอง ในการรวบรวมจัดระบบข้อมูลและประสบการณ์ต่าง ๆ ทำให้เกิดเป็นรูปร่างหรือมโนภาพที่เป็นเรื่องราวขึ้นในใจและสื่อสารออกมาโดยใช้คำพูดหรือแสดงออก

แนวคิด
1. การคิดและการสอนคิดเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในการจัดการศึกษาเพื่อให้มีคุณภาพสูง ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้มีการศึกษาเรื่องของการพัฒนาผู้เรียนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพทุกด้าน ทั้งด้านสติปัญญา คุณธรรม และความเป็นพลเมืองดีของประเทศโดยเน้นการฝึกการคิดและกระบวนการคิด
2. การคิดเป็นกระบวนการทางปัญญาที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และมักจะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอไม่มีขอบเขตจำกัด การคิดแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
2.1 การคิดอย่างไม่มีจุดมุ่งหมาย (Associative Thinking) เป็นการคิดแบบไม่ตั้งใจหรือมีจุดมุ่งหมายการคิด มีลักษณะคิดไปเรื่อย ๆ การคิดเช่นนี้มักไม่มีผลสรุป และไม่สามารถนำผลของการคิดไปใช้ประโยชน์
2.2 การคิดอย่างมีจุดหมาย (Directed Thinking) เป็นการคิดเพื่อหาคำตอบ เพื่อแก้ปัญหา หรือนำไปสู่จุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายโดยตรง สามารถนำผลของการคิดไปใช้ประโยชน์
3. การสอนเพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของการจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะความคิดอย่างมีจุดมุ่งหมายช่วยให้ผู้เรียนตัดสินใจหรือแก้ปัญหาได้อย่างมีคุณภาพ และเป็นเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะในยุคที่โลกกำลังเจริญก้าวหน้า สภาพสังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนไป เป็นสังคมแห่งการพัฒนาข่าวสารข้อมูล
4. ความสามารถในการคิด ส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดขึ้นได้ด้วยการฝึกฝนภายในสถานการณ์ที่เหมาะสม โดยเริ่มจากความสามารถพื้นฐานในการคิดที่เรียกว่า ทักษะการคิด แล้วเพิ่มความซับซ้อนขึ้นโดยการฝึกลักษณะการคิดและกระบวนการคิดตามลำดับ

กรอบความคิดของการคิด ตามแนวทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิดของ ทิศนา แขมณี และคณะ (2540) ได้แบ่งประเภทของการคิดเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
กลุ่มที่ 1 ทักษะการคิด หรือทักษะการคิดพื้นฐานที่มีขั้นตอนการคิดไม่ซับซ้อน เป็นทักษะพื้นฐานของการคิดขั้นสูง หรือระดับสูงที่มีขั้นตอนซับซ้อน แสดงออกถึงการกระทำหรือพฤติกรรมที่ต้องใช้ความคิด แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ทักษะการคิดพื้นฐาน และทักษะการคิดขั้นสูง ดังนี้
1. ทักษะการคิดพื้นฐาน ประกอบด้วย
1.1 ทักษะการสื่อความหมาย หมายถึง ทักษะการรับสารที่แสดงถึงความคิดของผู้อื่นเข้ามาเพื่อรับรู้ ตีความแล้วจดจำ และเมื่อต้องการที่จะระลึก เพื่อนำมาเรียบเรียงและถ่ายทอดความคิดของตนให้แก่ผู้อื่น โดยแปลความคิดในรูปของภาษาต่าง ๆ ทั้งที่เป็นข้อความ คำพูด ศิลปะ ดนตรี คณิตศาสตร์ ฯลฯ เช่น ทักษะการฟัง ทักษะการพูด ทักษะการอภิปราย ทักษะการทำให้กระจ่าง เป็นต้น
1.2 ทักษะการคิดที่เป็นแกนหรือทักษะการคิดทั่วไป หมายถึง ทักษะการคิดที่จำเป็นต้องใช้อยู่เสมอในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น ทักษะการสังเกต ทักษะการสำรวจ ทักษะการตั้งคำถาม ทักษะเก็บรวบรวมข้อมูล ทักษะการระบุ ทักษะการจำแนก ทักษะการเปรียบเทียบ เป็นต้น
2. ทักษะการคิดขั้นสูงหรือทักษะการคิดที่ซับซ้อน หมายถึง ทักษะการคิดที่มีขั้นตอนหลายขั้น และต้องอาศัยทักษะการสื่อความหมาย และทักษะการคิดที่เป็นแกนหลาย ๆ ทักษะในแต่ละขั้น เช่น ทักษะการสรุปความ ทักษะการให้คำจำกัดความ ทักษะการวิเคราะห์ ทักษะการผสมผสานข้อมูล ทักษะการจัดระบบความคิด ทักษะการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ทักษะการตั้งสมมุติฐาน เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 ลักษณะการคิด หรือการคิดขั้นกลาง/ระดับกลาง มีขั้นตอนในการคิดซับซ้อนมากกว่าการคิดในกลุ่มที่ 1 การคิดในกลุ่มนี้เป็นพื้นฐานของการคิดระดับสูง ซึ่งลักษณะการคิดแต่ละลักษณะต้องอาศัยทักษะการคิดขั้นพื้นฐานมากบ้างน้อยบ้างในการคิดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
2.1. ลักษณะการคิดทั่วไปที่จำเป็น ได้แก่ การคิดคล่อง การคิดละเอียด การคิดหลากหลาย การคิดชัดเจน
2.2. ลักษณะการคิดที่เป็นแกนสำคัญ ได้แก่ การคิดถูกทาง การคิดไกล การคิดกว้าง การคิดอย่างมีเหตุผล การคิดลึกซึ้ง
กลุ่มที่ 3 กระบวนการคิด หรือการคิดระดับสูง มีขั้นตอนในการคิดซับซ้อนและต้องอาศัยทักษะการคิด และลักษณะการคิดเป็นพื้นฐานในการคิด กระบวนการคิดมีอยู่หลายกระบวนการ เช่น กระบวนการคิดแก้ปัญหา กระบวนการคิดตัดสินใจ กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ กระบวนการคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น แนวการวัดความสามารถด้านการคิดจากการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนในขณะจัดกิจกรรมการเรียนรู้

วันอังคารที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2552

การจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้


การจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้

1.ลักษณะเด่น
การใช้แหล่งเรียนรู้มีความสำคัญในกระบวนการจัดการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนเพราะผู้เรียนสามารถเรียนรู้จากสภาพจริง การจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้จะเกี่ยวข้องกับบุคคล สถานที่ ธรรมชาติ หน่วยงานองค์กร สถานประกอบการ ชุมชน และสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ซึ่งผู้เรียน ผู้สอน สามารถศึกษาค้นคว้าหาความรู้หรือเรื่องที่สนใจได้จากแหล่งเรียนรู้ทั้งที่เป็นธรรมชาติ และที่มนุษย์สร้างขึ้น ชุมชนและธรรมชาติเป็นขุมทรัพย์มหาศาลที่เราสามารถค้นพบความรู้ได้ไม่รู้จบ ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง
ลักษณะเด่นของการจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้มีดังนี้
1 ผู้เรียนได้ปฏิบัติจริง ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง
2.ผู้เรียนได้ฝึกทำงานเป็นกลุ่มร่วมคิดร่วมทำร่วมแก้ไขปัญหาต่างๆซึ่งจะช่วยให้เกิดการเรียนรู้ และทักษะกระบวนการต่าง ๆ
3.ผู้เรียนได้ฝึกทักษะการสังเกตการเก็บข้อมูลการวิเคราะห์ข้อมูลการตีความและการสรุปความ คิดแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
4. ผู้เรียนได้ประเมินผลการทำงานด้วยตนเอง
5. ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้และเผยแพร่ความรู้ได้
6. ครูผู้สอนเป็นที่ปรึกษา ให้ความรู้ ให้คำแนะนำ ให้การสนับสนุน
2.แนวคิดสำคัญ
การเรียนรู้จากธรรมชาติ ได้ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจความจริงของชีวิตที่มีการเปลี่ยนแปลง มีการต่อสู้ดิ้นรน มีปัญหา มีสุนทรียภาพ มีคุณค่า ทั้งความจริง ความงาม และความดี ในทางตรงกันข้าม ธรรมชาติก็มีทั้งความเสื่อมสลายและความโหดร้ายทำลายล้าง ดังมีคำกล่าวว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ นั้นมีคุณอนันต์และโทษมหันต์ มนุษย์จึงจำเป็นต้องได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ การอนุรักษ์และยอมรับคุณค่าของธรรมชาติ ปรับตนเองได้ในความเปลี่ยนแปลง ผู้เรียนจะเรียนรู้จากธรรมชาติได้ดีก็ต่อเมื่อเขาได้รับการปลดปล่อยออกจากห้องเรียนที่กักขังเขา ไปสู่ธรรมชาติ และมีโอกาสหันกลับมาเรียนรู้เพื่อรู้จักตนเองว่าคือธรรมชาติและสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างไร(สุมน อมรวิวัฒน์,2544)
เราเรียนรู้จากชุมชนและธรรมชาติในเรื่องต่าง ๆ มากมาย เช่น ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มคนต่าง ๆ ในชุมชน ประวัติ ประเพณี พิธีกรรมของชุมชนแหล่งเรียนรู้ทางศาสนา วัฒนธรรม งานอาชีพ การทำมาหากินในชุมชน เหตุการณ์ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีผลกระทบต่อชีวิตคนในชุมชน เป็นต้น แหล่งเรียนรู้ของชุมชน และแหล่งเรียนรู้ตามธรรมชาติดังกล่าวนี้ มีทั้งประเภทที่รัฐและประชาชนจัดตั้งขึ้นและประเภทที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
คำว่าธรรมชาตินี้ มิได้หมายถึงเฉพาะสิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ เช่น ภูเขา แม่น้ำ ป่า สวน ไร่นา ลมฟ้าอากาศ ดิน หิน แร่ ต้นไม้ ใบหญ้า ฯลฯ เท่านั้น หากหมายรวมถึงเพื่อนมนุษย์ สรรพสัตว์ และแม้แต่การเรียนรู้ รู้จักวิเคราะห์ธรรมชาติในตัวของเราเอง
แนวคิดของการจัดการเรียนรู้เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ ผู้สอนสามารถกระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิด ได้ปฏิบัติงานด้วยเอกลักษณ์ของตัวเอง แนวคิดที่สำคัญมีดังนี้
1. การจัดการเรียนรู้เน้นความสำคัญที่ผู้เรียน ให้ผู้เรียนมีความสำคัญที่สุดในกระบวนการเรียนรู้
2. ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยการฝึกทักษะการใช้กระบวนการคิด การวิเคราะห์ การสังเกต การรวบรวมข้อมูล และการปฏิบัติจริงทำได้ คิดเป็น ทำเป็น
3. ผู้เรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข สนุกกับการเรียนรู้ ได้คิด แสดงออกอย่างอิสระ บรรยากาศการเรียนรู้ที่เป็นกัลยาณมิตร
4. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ทั้งระบบ
5. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดกระบวนการเรียนรู้ของผู้สอนให้มาเป็นผู้รับฟัง ผู้เสนอแนะผู้ร่วมเรียนรู้ เป็นที่ปรึกษา ผู้สร้างโอกาส สร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้เป็นนักออกแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนมีบทบาทมากที่สุด
6. ต้องการให้เรียนรู้ในสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตคือสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวจากง่ายสู่ยากจากรูปธรรมสู่นามธรรมโดยใช้แหล่งการเรียนรู้เป็นสื่อ ประสบการณ์ชีวิต ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มาเป็นฐานการเรียนและประยุกต์ใช้กับการป้องกันและแก้ปัญหา
7. ให้ผู้เรียนได้มีโอกาสฝึกจัดกิจกรรมได้เรียนรู้ตามความต้องการ ความสนใจใฝ่เรียนรู้ในสิ่งที่ต้องการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยตนเอง
8. ถือว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลาทุกสถานที่
9. ปลูกฝังสอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในทุกสาระการเรียนรู้
3.ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้
ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ เป็นดังนี้



รายละเอียดขั้นตอนการจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้
1. ขั้นสำรวจ ผู้สอนให้ผู้เรียนศึกษา สำรวจแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน และ ในชุมชนของผู้เรียน
2. ขั้นเรียนรู้ เป็นขั้นที่ผู้เรียนได้ศึกษาแหล่งเรียนรู้ และปฏิบัติกิจกรรม ที่เกิดจากการเรียนรู้ และมีการวางแผนร่วมกันในการปฏิบัติงาน
3. ขั้นประเมินผล เป็นขั้นตอนการวัดและประเมินผลตามสภาพจริงโดยให้ บรรลุจุดประสงค์การเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในการจัดการเรียนรู้ โดยมีครู ผู้เรียน ผู้ปกครอง เป็นผู้ประเมิน
4. ขั้นนำไปใช้ เป็นขั้นที่ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้จากแหล่งเรียนรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน
5. ขั้นประยุกต์ความรู้และเผยแพร่ผลงาน ขั้นที่ผู้เรียน นำความรู้ ที่ได้ เรียนรู้ไปประยุกต์ใช้ ในชีวิตประจำวันและเผยแพร่ นำไปใช้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียนต่อไป
4.บทบาทของผู้สอน
บทบาทผู้สอนในการจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ มีดังนี้
1. รวบรวมข้อมูลที่มีในโรงเรียนและชุมชนของผู้เรียน
2. ให้คำปรึกษา แนะนำผู้เรียน ในการศึกษาหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้
3. จัดหา ประสานงาน วัสดุอุปกรณ์ เอกสารเพิ่มเติม ให้การแนะนำ และสร้างขวัญกำลังใจ
4. ประเมินการเรียนรู้จากกิจกรรมในภาพรวม
5. ติดตามช่วยเหลือการดำเนินการ แนะนำความถูกต้อง
6. ประยุกต์ใช้ เผยแพร่ผลงาน สรุปผลและประเมินผล
5.บทบาทของผู้เรียน
บทบาทของผู้เรียนในการจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้มีดังนี้
1. สำรวจแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียน ชุมชน และศึกษาเอกสารพร้อมทั้งจดบันทึก
2. แบ่งกลุ่ม แบ่งหน้าที่การทำงาน นำความรู้เสนอภายในกลุ่ม
3. ตรวจสอบข้อมูล ความถูกต้อง ศึกษา ค้นคว้าจากเอกสารเพิ่มเติมจากแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ
4. ประเมินผลด้านความรู้ กระบวนการทำงานโดยตนเอง คณะครู และผู้ปกครอง
5. เลือกรูปแบบและวิธีการนำเสนอผลงาน
6. เสนอผลงานการปฏิบัติงาน เผยแพร่ผลงานต่อผู้เรียน คณะครู ผู้ปกครอง ชุมชน สรุปผลและประเมินผลการเผยแพร่ผลงาน

6. ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับใช้
1.การเตรียมการจัดการเรียนรู้ของผู้สอน
1) ศึกษาและวิเคราะห์หลักสูตร จุดประสงค์ และความสัมพันธ์ของเนื้อหา
2) จัดทำแผนการเรียนรู้
3) กำหนดสื่อจากแหล่งเรียนรู้ สิ่งแวดล้อม ของจริง (ธรรมชาติ)
4) กำหนดวิธีการ และเครื่องมือวัดผลประเมินผล
5) วางแผนการจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้จากแหล่งการเรียนรู้
2.การกำหนดสถานที่แหล่งเรียนรู้ สามารถกำหนดได้ 3 ประเภท คือ
1) การไปศึกษาแหล่งการเรียนรู้ในระยะทางใกล้ๆ หมายถึง การพาผู้เรียนไปยังสถานที่อื่นนอกห้องเรียนแต่ยังคงอยู่ในโรงเรียน เช่น การศึกษาต้นไม้ในโรงเรียน การศึกษาระบบนิเวศบริเวณโรงเรียน
2) การไปศึกษาแหล่งเรียนรู้ในระยะทางไม่ไกลมากนัก หมายถึง การศึกษาแหล่งเรียนรู้ที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงเรียน ที่สามารถเดินทางไปได้สะดวก เช่น การพาผู้เรียนไปศึกษาปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่มีอยู่จริง
3) การไปศึกษาแหล่งเรียนรู้ในระยะทางไกล หมายถึง การศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ที่ไกลจากโรงเรียน ต้องใช้ยานพาหนะ และต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 วันขึ้นไป
3.การปฐมนิเทศผู้เรียนก่อนไปศึกษานอกชั้นเรียน
1) แหล่งที่ไปศึกษาและเหตุผลที่จะไป อธิบายถึงลักษณะของสถานที่ เช่น พิพิธภัณฑ์ หรือโรงงานอุตสาหกรรม และสถานที่ประเภทเดียวกันที่มีอยู่บริเวณใกล้เคียง
2) วิธีการเดินทาง พาหนะในการเดินทางและค่าเดินทางที่ผู้เรียนต้องใช้จ่าย
3) ประโยชน์ของการศึกษานอกสถานที่ เป็นการทบทวนหรือการเริ่มต้นหน่วยการเรียน และกิจกรรมประเภทนี้ดีกว่ากิจกรรมอื่นๆ ในชั้นอย่างไร
4. ขั้นตอนการพาผู้เรียนไปศึกษาแหล่งเรียนรู้นอกสถานที่
1.ขั้นกำหนดความมุ่งหมาย ความมุ่งหมายในการไปศึกษาแหล่งเรียนรู้ จะต้องก่อให้เกิดคุณค่าทางวิชาการ ได้ผลคุ้มค่า และไม่มีกิจกรรมอย่างอื่นทดแทนได้ ในการกำหนดความมุ่งหมายนี้ผู้สอนต้องคำนึงถึงว่า มีความจำเป็นที่จะต้องพาไปศึกษานอกชั้นเรียนเกี่ยวข้องกับวิชาที่จะเรียนจริงหรือไม่ ต้องการไปศึกษาอะไร สภาพแวดล้อมเหมาะสมหรือไม่
2.ขั้นเตรียมการ ผู้สอนวางแผนการร่วมกับผู้เรียนไปสำรวจแหล่งที่จะไปเสียก่อน อภิปรายถึงเหตุผลที่จะไป ผู้สอนปฐมนิเทศให้แนวทางกับผู้เรียว่านจะต้องเตรียมอะไรบ้าง จะไปโดยวิธีไหน อย่างไร เวลาไหน ผู้สอนต้องแจ้งกำหนดการให้เจ้าของสถานที่ทราบ ถ้าเดินทางไปในระยะทางไกลต้องขออนุญาตผู้ปกครองและปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยการพาผู้เรียนไปศึกษานอกสถานที่
3.ขั้นเดินทางและศึกษาแหล่งเรียนรู้ ออกเดินทางศึกษาแหล่งเรียนรู้ตามกำหนดนัดหมาย ถ้าเป็นหน่วยงาน เมื่อถึงสถานที่ศึกษาดูงานแล้วผู้สอนควรพาผู้เรียนไปทำความรู้จักกับเจ้าของสถานที่ เจ้าของสถานที่อาจกล่าวต้อนรับและแนะนำสถานที่ หรือแบ่งกลุ่มให้วิทยากรเจ้าของสถานที่เป็นผู้พาไปดูและอธิบายให้ทราบ สถานที่บางแห่งอาจมีการแจกเอกสารประกอบด้วยก็ได้ ผู้สอนต้องให้ผู้เรียนได้สังเกต ซักถาม ถ่ายภาพ หรือทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ได้ความรู้ให้มากที่สุด
4.ขั้นประเมินผล เมื่อผู้เรียนกลับมาแล้ว ผู้สอนควรให้ผู้เรียนประเมินว่าได้ผลตามจุดมุ่งหมายหรือไม่ โดยจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น ประชุมปฏิบัติการ ทำการทดลองในห้องปฏิบัติการ อภิปราย จัดนิทรรศการ เขียนรายงาน เป็นต้น




7. ตัวอย่าง แนวทางการจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้

ตัวอย่างที่ 1 การเรียนรู้โดยวิธีการศึกษาระบบนิเวศในโรงเรียน
การศึกษาระบบนิเวศในโรงเรียน เป็นกระบวนการจัดกิจกรรมประสบการณ์เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ตระหนักในคุณค่าของระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ตัว เห็นแนวทางป้องกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตนเองให้มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา สภาพแวดล้อมในโรงเรียนสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศน์ได้อย่างง่ายๆ ซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของแต่ละโรงเรียน แหล่งศึกษาระบบนิเวศ อาทิ สระน้ำ สวนหย่อม สวนป่า เป็นต้น
แนวทางการจัดการศึกษาระบบนิเวศบริเวณโรงเรียน
มีขั้นตอนดังนี้
1. ขั้นสำรวจ
1.1 ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับระบบนิเวศองค์ประกอบของระบบนิเวศความสัมพันธ์ในระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศ
1.2 แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มตามความสมัครใจ เฉลี่ยจำนวนคนตามปริมาณผู้เรียนแต่ละห้องเรียน
1.3 กำหนดจุดศึกษา โดยพิจารณาว่ามีความเหมาะสมและเนื้อหาสาระเพียงพอที่จะให้ความรู้เรื่องระบบนิเวศได้ ผู้สอนต้องสำรวจสถานที่ที่จะกำหนดเป็นแหล่งศึกษาอย่างละเอียด
1.4 สิ่งที่จะต้องให้ผู้เรียนศึกษา ผู้สอนควรมีแบบปฏิบัติกิจกรรมให้กับผู้เรียน เพื่อจะได้รู้กรอบของการศึกษาว่าควรจะศึกษาเรื่องใดบ้าง
1.5 ระดมสมองกำหนดข้อควรปฏิบัติที่เหมาะสม เช่น ความปลอดภัยของผู้เรียนและวิธีการศึกษาที่จะทำให้ได้ข้อมูลตามที่ต้องการ
1.6 เตรียมเอกสารข้อมูล อุปกรณ์ ในการปฏิบัติกิจกรรม เช่น ดินสอ ปากกา ถุงพลาสติก เป็นต้น
2. ขั้นเรียนรู้
2.1 ผู้เรียนแต่ละกลุ่มศึกษาระบบนิเวศตามจุดศึกษาที่ได้กำหนดไว้
1) สระน้ำหลังอาคารเรียน
2) สวนหย่อมหรือแปลงดอกไม้
3) สวนป่าบริเวณโรงเรียน
4) ซากไม้ผุ
2.2 ให้ผู้เรียนตอบข้อคำถามที่ได้จากการสังเกตโดยการจดบันทึกข้อมูลในแต่ละแหล่งที่ได้ศึกษา
2.3 ให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มกลับมารายงานผลในห้องเรียน ระหว่างการศึกษาสำรวจผู้เรียนพบเห็นสิ่งใดที่น่าสนใจบ้าง ปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น โดยให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นระหว่างกลุ่ม
2.4 ให้ผู้เรียนสรุปผลจากการปฏิบัติกิจกรรม ดังนี้
2.4.1 สรุปเกี่ยวกับองค์ประกอบทางกายภาพ ของระบบนิเวศ เช่น ปริมาณแสงแดด สวนป่าย่อมมีน้อยกว่าแปลงดอกไม้
2.4.2 สรุปเกี่ยวกับข้อมูลที่ได้จากแหล่งศึกษา อาทิ ผู้ผลิต ผู้บริโภค องค์ประกอบของระบบนิเวศซึ่งในแต่ละจุดศึกษา จะมีทั้งใกล้เคียงและแตกต่างกัน เช่น ผู้ผลิตของสวนป่าเป็นต้นไม้ใหญ่ ผู้ผลิตในสระน้ำจะเป็นจำพวกผักตบชวาและผักบุ้ง
2.4.3 สภาพปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแหล่งที่ศึกษา
2.4.4 ห่วงโซ่อาหารในบริเวณที่ศึกษา ผู้เรียนสามารถสังเกตและบันทึก เกี่ยวกับห่วงโซ่อาหารอย่างหลากหลาย
3. ขั้นประเมินผล
3.1 ประเมินผลจากแบบบันทึกข้อมูลและการนำเสนอรายงานของแต่ละกลุ่ม
3.2 นำภาพวาดเกี่ยวกับห่วงโซ่อาหาร จัดบอร์ดหน้าชั้นเรียน
4. ขั้นนำไปใช้
เป็นขั้นที่ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้ศึกษาจากแหล่งเรียนรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน
5. ขั้นประยุกต์ความรู้และเผยแพร่ผลงาน
เป็นขั้นนำความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้จัดทำโครงงานเพื่อแก้ปัญหาในสิ่งที่พบและนำเสนอในรูปนิทรรศการ
ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับระบบนิเวศบริเวณโรงเรียน
1) ผู้สอนต้องสำรวจสถานที่ที่กำหนดเป็นจุดศึกษาระบบนิเวศอย่างละเอียด ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่มีเนื้อหาสาระเพียงพอเหมาะสมสอดคล้องกับประเด็นที่ต้องการศึกษา
2) ควรจัดทำเป็นตารางเวลาสำหรับการสังเกตเพราะการศึกษา ต้องปฏิบัตินอกเวลาเรียน
3) จุดที่ศึกษาต้องมีความปลอดภัยสูง ผู้สอนควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับจุดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้
ข้อดีของการศึกษาระบบนิเวศบริเวณโรงเรียน
1) การศึกษาระบบนิเวศน์ต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษาและการสังเกตนานพอสมควร การใช้บริเวณโรงเรียนเป็นจุดศึกษา จึงสะดวกต่อผู้เรียนที่สามารถศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง
2) เป็นการฝึกในการเก็บรวบรวมข้อมูลที่สอดคล้องกับความต้องการ สามารถนำข้อมูลที่ได้ จากการบันทึกมาจัดเรียบเรียงได้อย่างเป็นระบบ
ตัวอย่างที่ 2 การจัดเรียนรู้ โดยวิธีการศึกษานอกสถานที่ (การทัศนศึกษา)
การเรียนรู้แบบการศึกษานอกสถานที่ เป็นการจัดการเรียนรู้ที่ผู้สอนพาผู้เรียนออกไปศึกษานอกสถานที่ เพื่อแสวงหาคำตอบจากประสบการณ์ตรงและสถานการณ์จริง โดยมีวิทยากรเป็นผู้ให้ความรู้ การพาผู้เรียนไปนอกสถานที่ เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์เกี่ยวกับการพัฒนาด้านสังคม ให้รู้จักรับผิดชอบต่อชุมชน ต่อตนเอง ส่งเสริมการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดี เร้าความสนใจให้แก่ผู้เรียน การศึกษานอกสถานที่ถือว่าเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่ามาก เป็นวิธีสอนที่ผู้สอนควรคำนึงถึงเป็นอันดับแรกๆ เพราะช่วยเสริมสร้างประสบการณ์ตรง สามารถเกิดเจตคติที่พึงประสงค์ ปลูกฝังเยาวชนให้รู้จักหวงแหน ภาคภูมิใจ รักและห่วงใยต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดได้ยากหากเรียนรู้กันเฉพาะในห้องเรียน
แนวทางการจัดการเรียนรู้โดยวิธีการศึกษานอกสถานที่
แนวทางการศึกษานอกสถานที่มีวิธีการปฏิบัติและขั้นตอนดังนี้
1.ขั้นวางโครงการ
1.1 กำหนดสถานที่พาผู้เรียนไปศึกษา ต้องเป็นสถานที่ที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับประเด็นที่เรียนรู้
1.2 ผู้สอนต้องสำรวจสถานที่ที่จะไปเสียก่อน ซึ่งบางครั้งแหล่งที่กำหนดอาจมีปัญหาและไม่พร้อมที่จะใช้เป็นแหล่งศึกษาได้
2.ขั้นตั้งจุดประสงค์ของโครงการ
จุดมุ่งหมายของการไปศึกษานอกสถานที่ต้องก่อให้เกิดคุณค่าทางวิชาการ ในการกำหนดจุดมุ่งหมายผู้สอนต้องคำนึงถึงความสำคัญและความจำเป็น ต้องการไปศึกษา เรื่องอะไร สภาพแวดล้อมเหมาะสมหรือไม่ และเกี่ยวข้องกับวิชาที่เรียนจริงหรือไม่ พร้อมทั้งกำหนดสิ่งที่จะศึกษาหาความรู้ให้ชัดเจน
3.ขั้นเตรียมการ
3.1เสนอโครงการเป็นขั้นตอน ตามระเบียบว่าด้วยการพาผู้เรียนไปทัศนศึกษา และขออนุญาตผู้ปกครองเพื่อให้ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรม
3.2ผู้สอนแจ้งเจ้าของสถานที่ ขอความร่วมมือและเชิญวิทยากรเพื่อให้ความรู้แก่ผู้เรียน
3.3ผู้สอนและผู้เรียนช่วยกันร่างกฎระเบียบการไปศึกษานอกสถานที่
3.4ผู้สอนจัดปฐมนิเทศเกี่ยวกับการเตรียมตัว แจ้งกำหนดการ การแต่งกาย ความประพฤติ ความปลอดภัยในการเดินทาง และการปฏิบัติตนเป็นนักทัศนศึกษาที่ดี
3.5แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มตามความเหมาะสมทุกกลุ่ม ต้องมีประธานและเลขานุการกลุ่ม
3.6ให้แต่ละกลุ่มรับคู่มือศึกษาและบทปฏิบัติกิจกรรมเพื่อร่วมกันวางแผนศึกษาหาความรู้จากวิทยากร
4.ขั้นเดินทางชมสถานที่
4.1ออกเดินทางตามกำหนดนัดหมาย เมื่อถึงแหล่งที่ศึกษา ควรพาผู้เรียนไปรู้จักกับเจ้าของสถานที่เสียก่อน
4.2ผู้เรียนศึกษาหาความรู้จากการบรรยายของวิทยากร พร้อมทั้งการซักถาม สังเกต จดบันทึก ถ่ายภาพ หรือทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้ได้รับความรู้และประสบการณ์มากที่สุด
5.ขั้นประเมินผล
ระยะที่ 1 อภิปรายผล
1) หลังกลับจากศึกษานอกสถานที่แล้ว ให้ผู้เรียนอภิปรายกลุ่มย่อยจากเรื่องที่กำหนดไว้ในบทปฏิบัติกิจกรรม นำเสนอผลการอภิปรายกลุ่มใหญ่
2) ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันสรุปผลที่ได้จากการศึกษานอกสถานที่
3) ประเมินผลจากการอภิปราย และแบบฝึกปฏิบัติกิจกรรม
4) จัดนิทรรศการภาพถ่ายการปฏิบัติกิจกรรมจากการทัศนศึกษา
ระยะที่ 2 ประเมินผลโครงการเสนอต่อผู้บริหารสถานศึกษา
1) สรุปผลจากการศึกษานอกสถานที่
2) เสนอปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น
ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับการศึกษานอกสถานที่
1) ต้องเตรียมการล่วงหน้าในด้านค่าใช้จ่าย ผู้สอนควรให้ผู้เรียนเก็บออมล่วงหน้าอาจใช้วิธี ให้ผู้สอนเป็นผู้รับฝากตามศักยภาพของผู้เรียน วิธีการเช่นนี้เมื่อถึงเวลาทัศนศึกษา ผู้เรียนสามารถลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้ อีกทั้งยังช่วยฝึกคุณลักษณะนิสัยในการประหยัดเก็บออมอีกด้วย
2) ควรเน้นในเรื่องความมีวินัยในหมู่คณะและการเชื่อฟังผู้ควบคุมทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของผู้เรียน
ข้อดีของการศึกษานอกสถานที่
1) ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ตรง โดยผ่านประสาทสัมผัสหลายด้าน และเชื่อมโยงประสบการณ์ตรงกับความรู้สึกที่ได้เรียนในห้องเรียน
2) สอดคล้องกับความสนใจและเหมาะสมกับวัยของผู้เรียนเพราะผู้เรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาเป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็น
ข้อพึงปฏิบัติในการศึกษาธรรมชาติ
1.เตรียมสิ่งของต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเดินทางไปให้รอบคอบเรียบร้อย เช่น กำหนดการเดินทาง เสบียงอาหาร ยาประจำตัว เครื่องใช้ที่คิดว่าจำเป็นต้องใช้ ไม่ควรนำสิ่งของมีค่าติดตัวไป
2. ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่และวัฒนธรรมของท้องถิ่น เพื่อศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจ ได้รวดเร็วขึ้น
3. ช่วยกันอนุรักษ์แหล่งที่ไปทัศนศึกษา เช่น ไม่ขีดเขียนตามสถานที่ต่างๆ ไม่งัดแงะแกะทำลายสิ่งสวยงาม ไม่ทิ้งขยะเกลื่อนกลาด
4. แต่งกายให้สุภาพเรียบร้อย เหมาะสมกับสถานที่
5. ระมัดระวังกิริยามารยาท มิให้เป็นการขาดความคารวะต่อปูชนียสถานและปูชนียวัตถุ หรือรบกวนสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น
6.ในการเดินทางเป็นหมู่คณะควรรักษาความสามัคคีและเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
7.ตรงต่อเวลาและกำหนดนัดหมายกรณีที่มีความจำเป็นอาจจะยืดหยุ่นได้ตามสมควร
8. ปฏิบัติตามระเบียบของกลุ่มและของสถานที่ที่ทัศนศึกษา
9.ช่วยเหลือเกื้อกูลกันในระหว่างการเดินทาง
10.ควรระมัดระวังความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา ทั้งของตนเองและเพื่อน เช่น ไม่ควรลงจากรถก่อนที่รถจะจอดสนิท ไม่ควรเล่นหรือผลักกันบนรถ
11.ควรระมัดระวังความสะอาดของอาหารและเครื่องดื่ม
12.ระมัดระวังความประพฤติของกลุ่ม เพราะอาจส่งผลถึงการทัศนศึกษาครั้งต่อไป
การหาความรู้และประสบการณ์จากการทัศนศึกษา
1. สังเกตสิ่งรอบตัว พร้อมจดบันทึก
2. สนใจฟังคำบรรยายของวิทยากร
3. เมื่อต้องการความรู้เพิ่มเติมควรซักถามวิทยากร
4. ถ้ามีกล้องถ่ายรูป ควรถ่ายภาพที่น่าสนใจไว้



ตัวอย่างที่ 3 การเรียนรู้ โดยการศึกษาสำรวจสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น
1.ขั้นสำรวจ
โดยทั่วไปจะประกอบด้วยการสำรวจ แหล่งน้ำ ป่าไม้ ดิน สารเคมี ที่ใช้ในการเกษตรกรรม ขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม เช่น แหล่งโบราณสถาน โบราณวัตถุ หน่วยงานองค์กรที่เป็นแหล่งเรียนรู้
2. ขั้นเรียนรู้
2.1 ตั้งจุดมุ่งหมาย
2.1.1 สำรวจเรื่องอะไร
2.1.2 สำรวจเพื่อไปศึกษาถึงสิ่งหนึ่งสิ่งใดในท้องถิ่น
2.2 ขั้นวางแผน
2.2.1ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันพิจารณาคัดเลือกเนื้อหาที่เหมาะสม
2.2.2ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันตั้งเกณฑ์ในการพิจารณาสถานที่ที่ศึกษา ซึ่งควรมีเกณฑ์ดังนี้
1)ตรงกับจุดมุ่งหมายของการเรียน
2)เหมาะสมกับความสนใจ
3)สอดคล้องกับประสบการณ์เดิม
4)มีความสะดวกปลอดภัยในการศึกษาสำรวจ
2.2.3ร่วมกันวางระเบียบในการศึกษา
2.2.4วางแผนเรื่องปัญหาอุปสรรคและวิธีการป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างการศึกษา
2.3ขั้นเตรียมการ
2.3.1แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่มๆ ละประมาณ 5-6 คน โดยเน้นผู้เรียนที่มีภูมิลำเนาอยู่หมู่บ้านตำบลเดียวกันและควรรวมเป็นกลุ่มเดียวกันทั้งนี้เพื่อความสะดวกในเวลาที่ทำการศึกษาสำรวจ
2.3.2 ให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มเลือกหัวหน้าและเลขากลุ่ม
2.3.3 ตัวแทนกลุ่มเลือกสถานที่ที่จะออกสำรวจ
2.3.4 เตรียมการด้านเอกสารข้อมูล และวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการสำรวจ
2.3.5 ผู้เรียนประชุมปรึกษาหารือภายในกลุ่ม
2.4ขั้นศึกษาตามจุดประสงค์ที่วางไว้
2.4.1หัวหน้ากลุ่มแต่ละกลุ่มเป็นผู้นำกลุ่มรับผิดชอบงาน และดูแล กลุ่มของตน
2.4.2เมื่อถึงสถานที่ที่ศึกษา สมาชิกกลุ่มทุกคนต้องแสวงหาคำตอบจากปัญหาตามวิธีการของกลุ่มการศึกษาโดยรวมจากแหล่งการเรียนรู้ที่แต่ละกลุ่มศึกษา ควรมีประเด็นดังนี้
1) สภาพปัญหา ลักษณะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
2) สาเหตุของปัญหา
3) ผลกระทบของปัญหา
4) แนวทางในการป้องกันแก้ไข
3.ขั้นประเมินผล
ประเมินผลทันทีที่จบการสำรวจ โดยให้ผู้เรียนแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนออกมาอภิปรายหน้าชั้นเรียน ในหัวข้อต่อไปนี้
1) ปัญหาที่กลุ่มของตนได้รับ
2) วิธีแสวงหาคำตอบ
3) คำตอบที่หามาได้
ผู้สอนและผู้เรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันประเมินคำตอบว่าถูกต้องมากน้อยเพียงใด ช่วยกันสรุปภาพรวมพร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางที่ควรปรับปรุงแก้ไข และประเมินผลครั้งสุดท้าย
4. ขั้นนำไปใช้
ผู้เรียนนำความรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการสำรวจสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นไปใช้ในชีวิตจริง
5.ขั้นประยุกต์ความรู้และเผยแพร่ผลงาน
1.ผู้เรียนจัดนิทรรศการเกี่ยวกับความรู้ที่ได้จากสถานที่ที่ไปศึกษานั้น
2.ผู้เรียนจัดทำรายงานกลุ่ม
ข้อควรพิจารณาเกี่ยวกับการสำรวจสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น
1. แหล่งเรียนรู้ที่กำหนดเป็นแหล่งศึกษาในชุมชนนั้นๆ สามารถที่จะให้ข้อมูลที่เป็นความรู้แก่ผู้เรียนได้อย่างเพียงพอ และสอดคล้องกับประเด็นของการเรียนรู้
2. ผู้สอนต้องชี้แนะวิธีการเก็บข้อมูล การสังเกต โดยเฉพาะการสัมภาษณ์บุคคล ในชุมชนท้องถิ่นควรเลือกบุคคลที่อยู่อาศัย ในชุมชนนานพอสมควร และมีความพร้อมที่จะให้ข้อมูล



ตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้ ตามแนวทางการจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้
กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์
หน่วยการเรียนรู้ที่ 2 เรื่อง ชีวิตกับสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
ช่วงชั้นที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 เวลา 4 ชั่วโมง

สาระสำคัญ
ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาร่วมกันของสังคม ที่ทุกคนต้องร่วมมือกันแก้ไข และป้องกันปัญหา แนวทางที่ถูกต้องคือสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีส่วนร่วมในการเสริมสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อม
จุดประสงค์การเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนสามารถ
1. วิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและชุมชนได้
2. นำเสนอโครงการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมได้
3. ปฏิบัติกิจกรรมตามโครงการได้
เนื้อหาสาระ
1. แนวทางปฏิบัติเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
2. การจัดทำโครงการเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
กระบวนการจัดการเรียนรู้
ขั้นสำรวจ
1. กระตุ้นการเรียนรู้โดยผู้สอนนำเสนอโครงการตัวอย่างเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมที่มีผู้ปฏิบัติจนประสบความสำเร็จแล้วเป็นแผ่นชาร์ตแสดงขั้นตอนการดำเนินโครงการ
2. ใช้ประสบการณ์การสำรวจแหล่งเรียนรู้ และการสังเกตสภาพสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน
ขั้นเรียนรู้
3. ให้นักเรียนจับคู่ ร่วมกันคิดวิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและชุมชน ระดมพลังสมองเสนอโครงการเสริมสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่สามารถปฏิบัติได้จริง ซึ่งกำหนดขอบเขตโครงการจำแนกเป็น 5 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้
กลุ่มที่ 1 โครงการเกี่ยวกับเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชน
กลุ่มที่ 2 โครงการเกี่ยวกับคุณค่าของเหลือที่ใช้
กลุ่มที่ 3 โครงการเกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน
กลุ่มที่ 4 โครงการเกี่ยวกับการร่วมพัฒนาชุมชนท้องถิ่น
กลุ่มที่ 5 โครงการเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการรักษาสิ่งแวดล้อม
การจัดกลุ่มของโครงการดังกล่าวข้างต้น จะทำให้โครงการที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันมีการประสานเชื่อมโยงสอดคล้องกัน ทำให้การปฏิบัติกิจกรรมเป็นไปอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ โดยให้นักเรียนเลือกกลุ่มปฏิบัติกิจกรรมตามความสมัครใจของแต่ละกลุ่ม
4. แต่ละกลุ่มนำเสนอแนวคิดของกลุ่ม เพื่อให้นักเรียนในชั้นร่วมกันอภิปรายถึงความเป็นไปได้ของการปฏิบัติในแต่ละแนวทางนั้น
5. นักเรียนแต่ละกลุ่มศึกษาใบความรู้เรื่อง “แนะนำการเขียนโครงการ เสริมสร้างสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนและคุณภาพชีวิตที่ดี”
6. นักเรียนเขียนโครงการ วางแผนดำเนินโครงการตามใบงานที่ 1 เรื่อง การเขียนโครงการ
7. นักเรียนร่วมกันพิจารณาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของโครงการที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงตามเวลาที่กำหนด
8. ลงมือปฏิบัติกิจกรรมตามแผนงานที่ได้วางไว้ ซึ่งนักเรียนต้องปฏิบัติกิจกรรมนอกเวลาเรียน ในคาบเรียนเป็นการสรุป นำเสนอข้อมูล และความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานของแต่ละกลุ่มเป็นระยะ
ขั้นประเมินผล
9. ประเมินผลการปฏิบัติกิจกรรมของแต่ละกลุ่ม บรรลุเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของโครงการที่กำหนดไว้หรือไม่อย่างไร โดยใช้แบบประเมินโครงการ
10. ให้นักเรียนเผยแพร่ผลงานของกลุ่มตนเอง ทั้งในครอบครัว โรงเรียนและชุมชนในลักษณะแผ่นพับ โปสเตอร์ หนังสือเล่มเล็ก เขียนบทความ ฯลฯ
ขั้นประยุกต์ความรู้และเผยแพร่ผลงาน
11. ให้นักเรียนลงความเห็นว่าโครงการใดหรือวิธีการใดที่ควรนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล และการลดใช้พลังงาน ทั้งที่บ้าน โรงเรียนและชุมชน และถ้าไม่มีการดำเนินการแก้ไขปัญหาต่าง ๆเหล่านี้ จะเกิดอะไรขึ้นและส่งผลกระทบอย่างไรต่อคุณภาพชีวิตของประชากร
สื่อการสอน
1.แผ่นชาร์ตแสดงขั้นตอนของการดำเนินโครงการที่ประสบความสำเร็จ
2. ใบความรู้เรื่อง แนะนำการเขียนโครงการ
3. ใบงานที่ 4.1 เรื่องการเขียนโครงการ
การวัดและประเมินผล
วิธีวัด
1. จากการประเมินโครงการ
2. จากการประเมินการปฏิบัติกิจกรรมกลุ่ม
3. จากการประเมินพฤติกรรมการทำงานกลุ่ม

เครื่องมือ
1. แบบประเมินโครงการ
2. แบบประเมินการปฏิบัติกิจกรรมกลุ่ม
3. ใบงานเรื่อง การเขียนโครงการ
4. แบบประเมินพฤติกรรมการทำงานกลุ่ม
กิจกรรมเสนอแนะ
ให้นักเรียนจัดแสดงผลงานจากการปฏิบัติกิจกรรมตามโครงการ



ใบความรู้เรื่อง แนะนำการเขียนโครงการ

จุดประสงค์การเรียนรู้
1. นักเรียนสามารถวิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนได้
2. นักเรียนสามารถนำเสนอโครงการได้

แนะนำการเขียนโครงการ

ให้นักเรียนศึกษาข้อแนะนำและวิธีในการเขียนโครงการ นำความรู้ที่ได้ใช้ประกอบในการเขียนโครงการตามใบงานเรื่องการจัดทำโครงการ
แนวทางในการจัดทำโครงการ
1. เป็นโครงการที่สอดคล้องกับปัญหาสิ่งแวดล้อมของท้องถิ่น
2. เป็นโครงการที่ร่วมกันตัดสินใจเลือกและมีแนวทางที่สามารถปฏิบัติได้ตามศักยภาพของนักเรียน ตัวอย่างโครงการ เช่น โรงเรียนสีเขียว ขยะมีประโยชน์ เป็นต้น
3. การแบ่งงานกันรับผิดชอบ ต้องคำนึงถึง ความต่อเนื่องของการปฏิบัติกิจกรรม ความเหมาะสมของเวลาที่มีอยู่และการรายงานผลการดำเนินงาน
4. ต้องกำหนดเวลาและกิจกรรมที่ชัดเจน
ขอบเขตของการจัดทำโครงการ
ขอบเขตของแผนการปฏิบัติเพื่อจัดการระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและชุมชนจะครอบคลุมเนื้อหาสาระสิ่งแวดล้อมที่มีความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติดังต่อไปนี้

เรื่องที่ 1 โครงการเกี่ยวกับเผยแพร่ความรู้สู่ชุมชน
เรื่องที่ 2 โครงการเกี่ยวกับคุณค่าของเหลือที่ใช้
เรื่องที่ 3 โครงการเกี่ยวกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน
เรื่องที่ 4 โครงการเกี่ยวกับการร่วมพัฒนาชุมชนท้องถิ่น
เรื่องที่ 5 โครงการเกี่ยวกับภูมิปัญญาท้องถิ่นกับการรักษาสิ่งแวดล้อม
แนะนำการเขียนโครงการ
หลักการและเหตุผล
เป็นการบรรยายถึงสภาพปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยระบุปัญหาและสาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เผชิญอยู่ อาจแสดงข้อมูลเป็นตัวเลขประกอบการบรรยายสภาพปัญหา รวมทั้งแนวโน้มของผลกระทบว่าจะมีความรุนแรงในระดับใดหากมิได้รับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น


วัตถุประสงค์
กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของแผนปฏิบัติการต่าง ๆ ในการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและชุมชนของแต่ละโครงการ
ประเด็นปัญหา
ระบุประเด็นปัญหาที่นักเรียนตัดสินใจทำโครงการ
เป้าหมายของแผนการปฏิบัติงาน
ให้กำหนดเป้าหมายของการดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการว่า จะสามารถดำเนินการพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ในจำนวน ปริมาณหรือพื้นที่เท่าใด




ใบงานที่ 1 เรื่อง การจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อมในโรงเรียนและชุมชน
กลุ่มที่ .........................................ชั้น..............................................................

ขั้นวางแผนการจัดทำโครงการ
เรื่อง ....................................................................................................................................
ผู้ร่วมโครงการ......................................................................................................................
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................
ที่ปรึกษาโครงการ ...............................................................................................................
หลักการและเหตุผล
................................................................................................................................
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................
วัตถุประสงค์โครงการ
.................................................................................................................................
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................
ประเด็นปัญหา ....................................................................................................................
............................................................................................................................................
เป้าหมาย / สถานที่ดำเนินโครงการ .....................................................................................
ระยะเวลา ...........................................................................................................................
งบประมาณ .......................................................................................................................


ผลที่คาดว่าจะได้รับ
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................
แผนการปฏิบัติงาน
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................
การประเมินผล
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................
ขั้นลงมือปฏิบัติ
บันทึกผลการปฏิบัติ
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................
เอกสารอ้างอิง
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................
............................................................................................................................................



บรรณานุกรม

กมล ภู่ประเสริฐ. (2544) การบริหารวิชาการในสถานศึกษา. กรุงเทพฯ : บริษัททิปส์ พับบลิเคชั่นจำกัด.
เกษม จันทร์แก้ว. (2536). สิ่งแวดล้อมศึกษา. กรุงเทพฯ : อักษรสยามการพิมพ์.
คณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ,สำนักงาน.(2547) รายงานการสังเคราะห์รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ ของครูต้นแบบตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ 2542. กรุงเทพฯ : พิมพ์ครั้งที่ 1 แคนคิดมีเดีย จำกัด.
_____. (2542). แนวการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542. กรุงเทพฯ : สถาบันแห่งชาติเพื่อปฏิรูปการเรียนรู้.
วิชาการ,กรม. กระทรวงศึกษาธิการ. (2545) หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544. กรุงเทพมหานคร องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.)
______. (2545)คู่มือการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์.
______.(2544). หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน. พุทธศักราช 2544.
สนิท อักษรแก้ว. (2542). ป่าชายเลนนิเวศวิทยาและการจัดการ. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
สุมน อมรวิวัฒน์. (2544). กระบวนการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ในชุมชนและธรรมชาติ. กรุงเทพฯ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.