หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2552

ICT : ตัวช่วยการเรียนรู้ไร้พรมแดน



“วันนี้ได้เข้าเรียนที่ห้อง ICT ก็ดีครับ ได้เปลี่ยนบรรยากาศการเรียนการสอน ครูให้ลองค้นคว้าหาข้อมูลจาก Web Site ที่เกี่ยวกับเรื่องที่เรียน โดยคีย์คำที่ต้องการค้น โห ผมค้นเจอข้อมูลทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ แต่เพื่อนบางคนค้นได้นิดเดียว บางคนค้นได้มากมาย แต่ก็ยังมีเพื่อนบางคนที่ไม่รู้จักว่าเริ่มต้นค้น ได้ยังไง จะเริ่มต้นจากตรงไหน แต่ข้อมูลที่ค้นพบทั้งหมดก็ไม่ได้ตรงกับที่ผมต้องการเสมอไป ผมใช้เวลานานเหมือนกันกว่าจะตัดสินใจได้ว่าจะเลือกข้อมูลไหนมาทำงานส่งครู ผมว่าทุกวันนี้ ICT มีอิทธิพลเป็นอย่างมากในการเรียนการสอน ทำให้เราเข้าถึงมีความรู้ต่างๆได้อย่างมากมาย ครับ”
บทสัมภาษณ์: นักเรียช่วงชั้นที่ ๒ โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยขอนแก่น(ศึกษาศาสตร์). 3 กันยายน ๒๕๕๑
จากบทสัมภาษณ์ข้างต้น ทำให้ผู้เขียนตระหนักถึงอะไรบ้างอย่างที่ก้าวเข้ามาสู่ประตูการศึกษาในปัจจุบัน เมื่อผู้เขียนด้ลองมองย้อนไปในอดีตการเรียนการสอนที่ต้องนั่งเรียนในชั้น จากนั้น ครูเข้ามา แล้วเริ่มบอกให้ผู้เรียนท่องบทเรียนที่สอน แถมยังกำชับให้จำให้ได้ หรือ ไม่ก็ให้อ่านตัวหนังสือที่ครูบรรจง จดบนกระดานดำ และเมื่อถึงเวลาท้ายชั่วโมงครูก็สอบ ผู้เรียนยังทำหน้า ไม่เข้าใจกับสิ่งที่ครูทำ ยังไม่ได้รับรู้ด้วยซ้ำว่า เรียนแบบนี้ไปทำไม? เมื่อเรียนไปแล้วจะนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร? การสอบบางครั้งผ่าน บางครั้งไม่ผ่าน ครูวัดจากตรงไหน ? ครูรู้ได้อย่างไรว่าผู้เรียนมีความเข้าใจในเนื้อหากระบวนการมากน้อยเพียงใด? แต่วิธีการสอนเช่นนี้ สามารถพบเห็นได้ในหลายโรงเรียน ซึ่งปัจจุบันเองก็ยังพบเห็นอยู่เช่นเดิม เนื่องจากเป็นวิธีการสอนที่ใช้กันมานาน

แต่เมื่อกระแสโลกกาภิวัฒน์ก้าวเข้ามา พร้อมกับการเปลี่ยนแปลง กรอบความคิด แนวคิดเริ่มใหม่ๆ เข้ามา การนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communication Technology: ICT) เข้ามาใช้ในการเรียนการสอน เปิดให้ผู้เรียนและผู้สอนสามารถติดต่อและให้คำปรึกษา ตลอดจนการศึกษาและเรียนรู้ด้วยตัวเองที่สามารถเรียกข้อมูลมาใช้ได้จากทุกที่ ที่มีการเชื่อมต่อเครือข่าย ผู้เรียนได้รับความรู้ที่ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นตัวกลางถือได้ว่าเป็นแรงสำคัญในการเชื่อมโยงแหล่งความรู้ ข้อมูลเนื้อหา ชุดวิชาในการสอนเข้าด้วยกันโดยไม่มีพรมแดนกั้น การเรียนน่าตื่นเต้นและน่าติดตาม อยากศึกษาอยากเรียนรู้วิชาไหนก็ทำได้ง่ายเพียงปลายนิ้ว โดยมีผู้สอนเป็นผู้ชี้นำและให้คำปรึกษา ทำให้ Ideal Education เปลี่ยนแปลงไปสู่ Formal Education และนำไปสู่ Experience Education มากขึ้น

ปัญหาที่ตามมาคือ การก้าวตามกระแสที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนี้ ครูต้องรับบทบาทในการนำกระแสไม่ใช่ผู้ตามกระแส แต่หากเอาเข้าจริง ครูไม่สามารถที่จะทำอย่างนั้นได้ การเตรียมความพร้อมเพื่อเรียนรู้ให้ทันจึงเป็นทางออกแรกในการพัฒนาตนให้ทันการเปลี่ยนแปลง การปรับใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหา การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางสามารถออกแบบแผนการเรียนการสอนในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI) ระบบการเรียนทางไกล (Distance Learning) และการเรียนแบบออนไลน์ (E-learning) เหล่านี้ น่าจะช่วยให้ผู้เรียนมีโอกาสเรียนรู้ได้มากขึ้น ได้แสวงหาความรู้ตามหลักสูตร ด้วยการวางแผนกำหนดข้อมูลหรือสาระที่ต้องการ โดยผู้สอนแสดงแหล่งข้อมูล ทั้งจากเอกสารสิ่งพิมพ์และจาก Electronic Sources เช่น ชื่อของ Web ต่าง ๆ ให้ผู้เรียนแสวงหาข้อมูล วิเคราะห์ สังเคราะห์ เป็นคำตอบ สร้างเป็นองค์ความรู้ต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยี โดยมีความคาดหวังว่า เมื่อมีผู้เรียนเข้าสู่กระแสเทคโนโลยีนี้ ก็น่าจะใช้ประโยชน์และโอกาสจากความหลากหลายของข้อมูลในโลก ICT ได้อย่างดี และเกิดประโยชน์สูงสุดในการเรียนการสอน ซึ่งสิ่งที่ครูจะทำได้ คือ การเรียนรู้ ทำความเข้าใจในเทคโนโลยี และเชื่อมโยงกระบวนการเรียนรู้ให้เข้ากับเทคโนโลยีสารสนเทศที่ไร้ขอบเขต ให้เกิดประโยชน์ในการศึกษาให้มากที่สุด

การคิดและการสอนเพื่อพัฒนาการคิด

การคิดและการสอนเพื่อพัฒนาการคิด

การคิด หมายถึง พฤติกรรมภายในที่เกิดจากกระบวนการทำงานของสมอง ในการรวบรวมจัดระบบข้อมูลและประสบการณ์ต่าง ๆ ทำให้เกิดเป็นรูปร่างหรือมโนภาพที่เป็นเรื่องราวขึ้นในใจและสื่อสารออกมาโดยใช้คำพูดหรือแสดงออก

แนวคิด
1. การคิดและการสอนคิดเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในการจัดการศึกษาเพื่อให้มีคุณภาพสูง ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้มีการศึกษาเรื่องของการพัฒนาผู้เรียนให้เติบโตอย่างมีคุณภาพทุกด้าน ทั้งด้านสติปัญญา คุณธรรม และความเป็นพลเมืองดีของประเทศโดยเน้นการฝึกการคิดและกระบวนการคิด
2. การคิดเป็นกระบวนการทางปัญญาที่เกิดขึ้นตลอดเวลา และมักจะเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอไม่มีขอบเขตจำกัด การคิดแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ
2.1 การคิดอย่างไม่มีจุดมุ่งหมาย (Associative Thinking) เป็นการคิดแบบไม่ตั้งใจหรือมีจุดมุ่งหมายการคิด มีลักษณะคิดไปเรื่อย ๆ การคิดเช่นนี้มักไม่มีผลสรุป และไม่สามารถนำผลของการคิดไปใช้ประโยชน์
2.2 การคิดอย่างมีจุดหมาย (Directed Thinking) เป็นการคิดเพื่อหาคำตอบ เพื่อแก้ปัญหา หรือนำไปสู่จุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายโดยตรง สามารถนำผลของการคิดไปใช้ประโยชน์
3. การสอนเพื่อพัฒนาความสามารถในการคิดเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของการจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพราะความคิดอย่างมีจุดมุ่งหมายช่วยให้ผู้เรียนตัดสินใจหรือแก้ปัญหาได้อย่างมีคุณภาพ และเป็นเครื่องมือสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะในยุคที่โลกกำลังเจริญก้าวหน้า สภาพสังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนไป เป็นสังคมแห่งการพัฒนาข่าวสารข้อมูล
4. ความสามารถในการคิด ส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดขึ้นได้ด้วยการฝึกฝนภายในสถานการณ์ที่เหมาะสม โดยเริ่มจากความสามารถพื้นฐานในการคิดที่เรียกว่า ทักษะการคิด แล้วเพิ่มความซับซ้อนขึ้นโดยการฝึกลักษณะการคิดและกระบวนการคิดตามลำดับ

กรอบความคิดของการคิด ตามแนวทฤษฎีการเรียนรู้เพื่อพัฒนากระบวนการคิดของ ทิศนา แขมณี และคณะ (2540) ได้แบ่งประเภทของการคิดเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ
กลุ่มที่ 1 ทักษะการคิด หรือทักษะการคิดพื้นฐานที่มีขั้นตอนการคิดไม่ซับซ้อน เป็นทักษะพื้นฐานของการคิดขั้นสูง หรือระดับสูงที่มีขั้นตอนซับซ้อน แสดงออกถึงการกระทำหรือพฤติกรรมที่ต้องใช้ความคิด แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ทักษะการคิดพื้นฐาน และทักษะการคิดขั้นสูง ดังนี้
1. ทักษะการคิดพื้นฐาน ประกอบด้วย
1.1 ทักษะการสื่อความหมาย หมายถึง ทักษะการรับสารที่แสดงถึงความคิดของผู้อื่นเข้ามาเพื่อรับรู้ ตีความแล้วจดจำ และเมื่อต้องการที่จะระลึก เพื่อนำมาเรียบเรียงและถ่ายทอดความคิดของตนให้แก่ผู้อื่น โดยแปลความคิดในรูปของภาษาต่าง ๆ ทั้งที่เป็นข้อความ คำพูด ศิลปะ ดนตรี คณิตศาสตร์ ฯลฯ เช่น ทักษะการฟัง ทักษะการพูด ทักษะการอภิปราย ทักษะการทำให้กระจ่าง เป็นต้น
1.2 ทักษะการคิดที่เป็นแกนหรือทักษะการคิดทั่วไป หมายถึง ทักษะการคิดที่จำเป็นต้องใช้อยู่เสมอในการดำรงชีวิตประจำวัน เช่น ทักษะการสังเกต ทักษะการสำรวจ ทักษะการตั้งคำถาม ทักษะเก็บรวบรวมข้อมูล ทักษะการระบุ ทักษะการจำแนก ทักษะการเปรียบเทียบ เป็นต้น
2. ทักษะการคิดขั้นสูงหรือทักษะการคิดที่ซับซ้อน หมายถึง ทักษะการคิดที่มีขั้นตอนหลายขั้น และต้องอาศัยทักษะการสื่อความหมาย และทักษะการคิดที่เป็นแกนหลาย ๆ ทักษะในแต่ละขั้น เช่น ทักษะการสรุปความ ทักษะการให้คำจำกัดความ ทักษะการวิเคราะห์ ทักษะการผสมผสานข้อมูล ทักษะการจัดระบบความคิด ทักษะการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ทักษะการตั้งสมมุติฐาน เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 ลักษณะการคิด หรือการคิดขั้นกลาง/ระดับกลาง มีขั้นตอนในการคิดซับซ้อนมากกว่าการคิดในกลุ่มที่ 1 การคิดในกลุ่มนี้เป็นพื้นฐานของการคิดระดับสูง ซึ่งลักษณะการคิดแต่ละลักษณะต้องอาศัยทักษะการคิดขั้นพื้นฐานมากบ้างน้อยบ้างในการคิดแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
2.1. ลักษณะการคิดทั่วไปที่จำเป็น ได้แก่ การคิดคล่อง การคิดละเอียด การคิดหลากหลาย การคิดชัดเจน
2.2. ลักษณะการคิดที่เป็นแกนสำคัญ ได้แก่ การคิดถูกทาง การคิดไกล การคิดกว้าง การคิดอย่างมีเหตุผล การคิดลึกซึ้ง
กลุ่มที่ 3 กระบวนการคิด หรือการคิดระดับสูง มีขั้นตอนในการคิดซับซ้อนและต้องอาศัยทักษะการคิด และลักษณะการคิดเป็นพื้นฐานในการคิด กระบวนการคิดมีอยู่หลายกระบวนการ เช่น กระบวนการคิดแก้ปัญหา กระบวนการคิดตัดสินใจ กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ กระบวนการคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น แนวการวัดความสามารถด้านการคิดจากการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนในขณะจัดกิจกรรมการเรียนรู้